เกาะสีชัง เปิดงานอุ้มสาวลงน้ำ เกาะขามใหญ่ สืบสานประเพณีอันเก่า
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 เมษายน 2568 ที่บริเวณชายหาดเกาะขามใหญ่ ต.ท่าเทววงษ์ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี นายชูศักดิ์ นันทิธัญญธาดา นายอำเภอเกาะสีชัง ประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลสงกรานต์เกาะสีชัง วันไหลเกาะขาม อุ้มสาวลงน้ำ ประจำปี 2568 โดยมี ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการ เลี้ยงไก่ แห่งประเทศไทย และหัวหน้าส่วนราชการ ชาวบ้านเกาะขามและชาวอำเภอเกาะสีชัง รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วม

สำหรับสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ หรือประเพณีสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำที่เกาะขามใหญ่ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี จัดขึ้นทุกปี เป็นที่สนุกสนานของหนุ่มสาวชาวเกาะ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวที่เกาะขามใหญ่ ซึ่งห่างจากตัวอำเภอเกาะสีชัง 1 กม.และนั่งเรือจากท่าเรือเกาะลอย ศรีราชา มาที่เกาะขามใหญ่ 12 กม.ใช้เวลาเดินทางมาประมาณ 45 นาที ซึ่งภายในงานนั้นมีกิจกรรมมากมาย เช่น การละเล่นพื้นบ้าน แข่งขันเรือพาย ปีนเสาน้ำมันและประเพณีอุ้มสาวลงน้ำได้ชมกัน ซึ่งสร้างความสุนกสนานให้ผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ด้วยความคิดต้องกาดำรงความเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอเกาะสีชังไว้ จึงได้จัดประเพณีกองข้าว และอุ้มสาวลงน้ำขึ้นทุกปี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงคุณค่าของประเพณีที่เก่าแก่ และร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีให้คงอยู่สืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งชาวเกาะสีชังนั้นจะไม่นิยมเล่นสาดน้ำกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม เนื่องจากมีปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด ซึ่งการเล่นจะมีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น อุ้มสาวลงน้ำ หรือ จูงมือลงทะเล สำหรับความโดดเด่นของงานสงกรานต์เกาะสีชังที่ไม่มีใครเหมือนเห็นจะเป็น ประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 18 เม.ย.ของทุกปี ที่เกาะขามใหญ่ เนื่องจากชาวเกาะสีชังจะมีอาชีพประมงเป็นอาชีพหลักต้องออกทะเลอยู่เป็นประจำ ดังนั้น ในช่วงประเพณีสงกรานต์จึงเหมือนเป็นวันที่พวกเขาได้หยุดพัก ไม่ออกทะเล แต่จะพาครอบครัวและรับประชาชน และนักท่องเที่ยวพาเดินทางจากเกาะสีชังมารวมตัวกันที่เกาะขามใหญ่

รวมทั้งชาวท้องถิ่น หรือลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่นจะกลับมาบ้านเกิดที่เกาะสีชังในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี ทำให้หนุ่มสาว และครอบครัวได้มีโอกาสได้พบเจอกัน มาปรับความเข้าใจ ขอขมาลาโทษในสิ่งที่ผิดข้องใจกัน ในวันที่ 18 เม.ย.ของทุกปี ชายหนุ่มหรือผู้สูงวัยจะเลือกสาวที่ชอบแล้วขออนุญาตอุ้มลงเล่นน้ำทะเล ในระหว่างที่อุ้มลงน้ำจะอวยพรซึ่งกันและกัน นอกจากหนุ่มสาวแล้ว ผู้สูงอายุจะถูกลูกหลานอุ้มลงเล่นน้ำเช่นกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสได้สนุกสนานร่วมกับครอบครัวและลูกหลาน และเป็นการขอพรในวันสงกรานต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและเทศที่เป็นผู้หญิงที่ไม่ใช่คนพื้นที่เข้ามาท่องเที่ยวในงานประเพณีอุ้มสาวลงน้ำที่เกาะขามใหญ่นี้ จะไม่มีการถือเนื้อถือตัว จะยอมให้ชายหนุ่มหรือผู้สูงวัยอุ้มลงน้ำกัน
ซึ่งในงานประเพณีนี้ชาวต่างประเทศหลายชาติหลายภาษาต่างเดินทางมาท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก โดยจะเดินทางมาพักค้างคืนที่เกาะสีชังแล้วมาร่วมเล่นอุ้มสาวลงน้ำกันอย่างสนุกสนาน รวมทั้งถ่ายรูปกลับไปเพื่อให้เพื่อนฝูงที่อยู่ต่างประเทศได้ดูกัน ซึ่งประเพณีนับเป็นประเพณีที่แปลก มีมาตั้งแต่สมัยโบราณที่ชาว อ.เกาะสีชัง ยังได้อนุรักษ์ไว้เพื่อให้ลูกหลานได้ปฏิบัติตาม รวมทั้งเป็นเรื่องแปลกและทึ่งแก่ชาวต่างชาติที่ได้พบเห็นจนเดินทางมาท่องเที่ยวกันจนโด่งดังไปทั่วโลก
